ประวัติ ของ ทีเกอร์ 2

ทีเกอร์ 2 เป็นรุ่นต่อจากทีเกอร์ 1 เนื่องจากการคาดการณ์ของเสนาธิการเยอรมันว่า โซเวียตกำลังผลิตรถถังที่ทรงอานุภาพมากยิ่งขึ้น รถถังรุ่นนี้ก็ถูกผลิตโดยสองบริษัทเฮนเซลและปอร์เช่ แต่สองบริษัทนั้นได้ออกแบบรถถังที่มีความแตกต่างกันโดยเฉพาะป้อมปืน ป้อมปืนของปอร์เช่มีข้อด้อยกว่าของเฮนเซลเพราะส่วนโค้งด้านหน้าป้อมของปอร์เช่นั้นมีความหนา 110 มิลลิเมตร บางกว่าป้อมของเฮนเซลถึง 70 มิลลิเมตร และป้อมผ.บ.รถของปอร์เช่ที่ยื่นออกมานั้นมีเกราะที่บางมากซึ่งอันตรายมากหากถูกยิง กองทัพเยอรมันเลิกใช้ป้อมปืนของปอร์เช่และหันมาใช้ป้อนปืนของเฮนเซลแทน (ในตอนแรกป้อมปืนของปอร์เช่ถูกผลิตออกมาเพียง 50 ป้อมเท่านั้น) นอกจากเกราะที่หนาแล้ว ทีเกอร์ 2 ยังติดปืน 105 มม. L68 ซึ่งมีอานุภาพสูงกว่าปืนต่อสู้รถถังทุกชนิดในยุคนั้น แต่จุดอ่อนก็คือ เครื่องยนต์ที่คิงทีเกอร์ใช้เป็นเครื่องยนต์แบบเดียวกันกับทีเกอร์ 1 เครื่องรุ่นเดียวกัน แต่รับน้ำหนักมากกว่า จึงมีปัญหากินน้ำมันอย่างมากและปัญหาขัดข้องด้วย อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์รุ่นนี้ก็ถือว่าทรงอานุภาพที่สุด

แฟร์ดีนันท์ พอร์เชอ ตั้งชื่อเล่นพร้อมกับทีเกอร์ 1 หลังจากทีเกอร์ 2 ถูกผลิตขึ้น โดยแท้จริงแล้ว ยานเกราะชนิดนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ Panzerkampfwagen VI Ausführung B Tiger 2 แต่อย่างไรก็ตามเหล่าทหารเยอรมันได้ตั้งชื่อเล่นอีกชื่อว่า คิงทีเกอร์ (KingTiger)

ข้อมูลการรบเท่าที่มีการบันทึกไว้ คือข้อมูลของทหารสหรัฐในยุทธการที่ป่าอาร์เดนส์ ประเทศเบลเยียม หรือที่เรียกว่า ยุทธการตอกลิ่ม โดยคิงทีเกอร์ได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ฝ่ายพันธมิตรอย่างมาก เพราะพวกเขาพบว่า ปืนใหญ่แทบทุกชนิดของฝ่ายพันธมิตร ไม่สามารถสร้างความเสียหายใด ๆ ให้คิงทีเกอร์ได้เลย อีกทั้งยังสามารถทำลายรถถังกลางเชอร์แมนไปถึง 47 คัน แต่อย่างไรก็ตามรถถังคิงทีเกอร์เป็นรถถังที่รับน้ำหนักมากทำให้เกิดปัญหากินน้ำมันจนทำให้น้ำมันในตัวหมดซึ่งทางกองทัพเยอรมันไม่มีน้ำมันมากพอที่จะเติมมันได้ ทำให้พลขับรถถังต้องสละทิ้งรถถังไปทำให้การรุกของกองทัพเยอรมันต้องหยุดชะงักลงและพ่ายแพ้ในที่สุด

แต่ข้อมูลการรบของฝ่ายเยอรมันนั้นแทบไม่มีเลย เพราะมีข้อมูลที่เปิดเผยในช่วงหลังสงครามว่า ในช่วงปลายสงครามและเยอรมนีใกล้แพ้ ศูนย์ยุทธการทหารบกเยอรมันที่เมืองพ็อทซ์ดัมได้เผาทำลายเอกสารข้อมูลและรูปถ่ายที่ได้มาระหว่างสงครามไปเกือบหมด รวมทั้งข้อมูลของคิงทีเกอร์ด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาทฤษฏีนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ข้อมูลของคิงทีเกอร์นั้นได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและนาซีเยอรมันพ่ายแพ้ให้กับสัมพันธมิตร รถถังรุ่นนี้ได้ถูกยกเลิกผลิตและปลดประจำการในกองทัพเยอรมัน แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ทีเกอร์ II ไม่กี่คันเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ให้โดยถูกนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์และงานแสดงทั่วโลก ตัวอย่างของยานเกราะที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือ ยานเกราะที่ Musée de Blindés ในซามัวร์ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นยานเกราะเพียงคันเดียวที่ยังคงสามารถใช้งานได้

ทีเกอร์ 2 คาดว่าผลิตมา เพียง 492 คัน และได้มีโอกาสได้ร่วมสงครามแค่ 1 ปีเท่านั้นก่อนที่เยอรมันจะได้แพ้สงครามไป